ป่าชายเลนชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ
ความมั่นคงของหมู่บ้าน ความมั่นคงด้านอาหารของสังคม
การดูแลป่าของชุมชนบ้านทุ่งตะเซะก่อให้เกิดผลกระทบใน 3 ระดับ กล่าวคือ ในระดับชุมชน ก่อให้เกิดการดูแลป่าชุมชนชายเลนขึ้นหลายแห่งในเขตลุ่มน้ำปะเหลียน ทั้งก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ในอย่างน้อย 6 หมู่บ้าน 3 อำเภอ ในระดับจังหวัด ป่าชุมชนบ้านทุ่งตะเซะเป็นที่ศึกษาดูงานด้านป่าชุมชน ของชุมชนและเยาวชนในจังหวัดใกลเคียงและหลายจังหวัดทั่วประเทศและขยายสู่หลายประเทศในระดับภูมิภาค
การดูแลป่าของชุมชนบ้านทุ่งตะเซะจึงเป็นการสร้างองค์ความรู้โดยชุมชน ด้วยการใช้กลยุทธ์สันตืวิธี มีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง พิสูจน์ให้เห็นศักยภาพของชุมชนในการดูแลรักษาป่า อีกทั้งยังได้ขยายเครือข่ายการประสานความร่วมมือ ระหว่างคนต้นน้ำกับคนปลายน้ำในเขตลุ่มน้ำปะเหลียนและลุ่มน้ำตรัง รวมทั้งภาครัฐ คือ กรมป่าไม้
|
ป่าชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ เป็น 1 ใน 10 ป่าชายเลนชุมชนในจังหวัดตรัง มีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ เป็นพื้นที่ที่เคยผ่านการทำสัมปทานป่าไม้มาก่อน ส่วนที่เป็นป่าชายเลนชุมชนมีประมาณ 2,000 ไร่ สภาพป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ที่มีความโดดเด่นและหลากหลาย ยังเหลือไม่ขนาดใหญ่จำนวนมาก เช่น ไม้ตะบูน ไม้โกงกาง ไม้ปีปี (แสมทะเล) พันธุ์หลายชนิดเป็นสมุนไพร นอกจากนี้ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด เช่น นาก ลิง ค่าง บ่าง กระรอก เสือปลา งู นกนานาชนิด บางครั้งก็พบปลาโลมาว่ายเวียนมาหาอาหาร
บ้านทุ่งตะเซะ ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง หมู่บ้านตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปะเหลียน มีอาณาเขตติดต่อ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันตังและอำเภอปะเหลียน มีประชากร 65 หลังคาเรือน จำนวน 345 คน ส่วนใหญ่นับถือ
กระบวนการสร้างป่าชายเลนชุมชนเกิดจากปัญหาทรัพยากรเสื่อมโทรม ทั้งจากการสัมปทานป่าชายเลนให้กับธุรกิจเผาถ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 รวมทั้งการลักลอบตัดและแปรรูปไม้ในบริเวณป่าใช้สอยของหมู่บ้าน การลดลงของป่าชายเลนส่งผลต่อสัตว์น้ำที่เริ่มลดลง โดยเฉพาะหอยกันซึ่งมีแหล่งอาศัยอยู่ใต้บริเวณป่าไม้ใหญ่และหนาแน่น ประกอบกับชุมชนจากต่างถิ่นเริ่มเข้ามาทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้าง เช่น อวนรุน นอกจากนั้นสัตว์ป่าในป่าชายเลนก็ลดลง ทั้งจากการล่าเพื่อบริโภค
กระบวนการได้มา...แนวเขตป่าชายเลนชุมชน
เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 โดยเริ่มจากแนวคิดของกลุ่มแกนน้ในหมู่บ้านและชาวบ้าน มีการปรึกษาหารือกันและเห็นร่วมกันถึงความจำเป็นในการกำหนดแนวเขตที่ชัดเจน ระหว่างพื้นที่ป่าสัมปทานกับพื้นที่ป่าใช้สอยของหมู่บ้าน เพื่อปกป้องทรัพย์สินของชุมชน มีการเริ่มสอบถามข้อมูลทั้งจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน จากป่าไม้อำเภอและป่าไม้ จังหวัดตรังเวลาล่วงถึงปี พ.ศ. 2535 แต่ไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน
ในระหว่างปี พ.ศ. 2536 – 2538 คณะกรรมการป่าชึ่งประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แกนนำในหมู่บ้าน ร่วมกับชุมชนดำเนินการปลูกป่าชายเลนในบริเวณรอบๆ หมู่บ้านหลายครั้ง จนถึงปี พ.ศ. 2538 สมาคมหยาดฝนได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการศึกษาชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ โดยได้รวบรวมแนวความคิดชุมชน และได้รับทราบว่าชุมชนมีความต้องการที่จะจัดการพื้นที่ป่าใช้สอยของชุมชนในระหว่างปี พ.ศ.2536 – 2539 ชุมชนจัดกิจกรรมเกี่ยวกับป่าชายเลนชุมชนเป็นระยะ ทั้งกิจกรรมการปลูก การสาง การปลูกเสริมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
ความพยายามในการดำเนินงานป่าชายเลนชุมชนของบ้านทุ่งตะเซะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 – 2542 ทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ การจัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ในรูปแบบต่างๆ การประชุมสัมมนา ขณะเดียวกันมีการต่อสู้กับปัญหาเรืออวนรุนจากต่างหมู่บ้าน สามารถสรุปพอสังเขปได้ดังต่อไปนี้
พ.ศ. 2538
- ประสานงานกับป่าไม้จังหวัดตรัง ป่าไม้อำเภอย่านตาขาว และหัวหน้าหน่วยงาน ตง.1 เพื่อหาแนวเขตป่าใช้สอบของชุมชน หากผลที่ได้รับคือ ไม่ได้รับการสนับสนุนข้อมูลที่ชัดเจน
- ประชุมเพื่อจัดทำโครงการป่าชุมชนที่บ้านทุ่งตะเซะ ทำให้เกิดแนวคิดที่ชัดเจนในการจัดการป่าชายเลนชุมชน
พ.ศ. 2540
- สำรวจป่าชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ ครั้งที่ 1 เพื่อวางแนวเขตป่าชายเลนชุมชน ทำให้ได้ขัอมูลเกี่ยวกับพรรณไม้ต่างๆ และสัตว์ป่า
- เกิดความขัดแย้งกับเรืออวนรุนและการลักลอบตัดไม้ป่าชายเลนจากต่างหมู่บ้าน สาเหตุจากแนวเขตป่าสัมปทานไม่ชัดเจน และหมู่บ้านโดยรอบไม่ทราบว่าทุ่งตะเซะมีป่าชายเลนชุมชน จึงเริ่มมีการประชาสัมพันธ์ให้หมู่บ้านโดยรอบทราบถึงแนวเขตป่าชายเลนชุมชน และประกาศห้ามเรืออวนรุนเข้ามาในพื้นที่
- จัดค่ายเยาวชนรักษ์ป่าชายเลน ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งตะเซะ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนและเสริมความรู้เกี่ยวกับป่า
- จัดการสำรวจป่าชุมชนครั้งที่ 2
- จัดประชุมร่วมเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนเต็มรูปแบบเพื่อทำหน้าที่ในการจัดการ และดำเนินงานป่าชายเลนชุมชน
- ผู้ใหญ่บ้านได้เข้าพบป่าไม้เขตสงขลาและได้รับทราบว่าชุมชนมีพื้นที่ป่าใช้สอยอยู่จริง
- ป่าไม้เขตเห็นชอบในการให้มีการจัดตั้งป่าชายเลนชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ และได้มอบหมายให้หน่วยดูแลรักษาป่าชายเลน ตง.1 ตัดแนวและรังวัดพื้นที่
- ประชุมและแต่งตั้งคณะกรรมการป่าชายเลนชุมชน จำนวน 7 คน มีผู้ใหญ่บ้านดเป็นประธาน นอกจากนั้นยังมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในพื้นที่
นับตั้งแต่ชุมชนได้รับอำนาจในการจัดการป่าชายเลนชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา ก่อให้เกิดกิจกรรมการฟื้นฟูป่าชายเลนชุมชนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พ.ศ. 2541
- ปลูกป่าจากในพื้นที่ป่าชายเลนชุมชน พร้อมเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับป่าชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ
- ดร. สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC) ได้นำคณะรัฐมนตรีประเทศสหภาพเมียนม่า สปป.ลาว และผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ตรวจเยี่ยมชมป่าชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ
- นักเรียน นักศึกษาจากหลายสถาบันมาร่วมปลูกป่าและศึกษาธรรมชาติในป่าชายเลนชุมชน
พ.ศ. 2542
การดำเนินงานป่าชายเลนชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ มีทั้งกิจกรรมการปลูก การสาง การปลูกเสริมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มประชาชนในพื้นที่องค์กงภาครัฐและเอกชน สมาคมหยาดฝน คณะครูและนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งตะเซะ และกลุ่มต่างๆ ในหมู่บ้าน เช่น กลุ่มยาวชนรักป่า กลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มทำใบจาก นอกจากนี้ชุมชนยังมีการสัมมนา การพูดคุย และร่วมปรึกษาหารือถึงแนวทางการจัดการให้เป็นระบบและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
กระบวนการจัดการป่าชายเลนชุมชน
คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านทุ่งตะเซะมีการประชุมกันทุกวันที่ 7 ของเดือน เพื่อทบทวนกิจกรรมที่ผ่านมาในแต่ละเดือน และร่วมกันระดมความคิดอก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยแบ่งการจัดการพื้นที่ป่าชายเลนชุมชนที่มีประมาณ 2,000 ไร่ ออกเป็น 4 แปลง ได้แก่
แปลงที่ 1
แปลงป่าอนุรักษ์ สภาพพื้นที่เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์
แปลงที่ 2
แปลงป่าจาก มีการปลูกจากลงในพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อให้ชุมชนได้ใช้สอย และสามารถหาซื้อเพื่อไปประกอบอาชีพเกี่ยวกับจาก
แปลงที่ 3
แปลงป่าใช้สอยของหมู่บ้าน โดยการสลับกันใช้ประโยชน์ภายในแปลง กล่าวคือ ถ้าแปลงไหนกรรมการพิจารณาเห็นว่าได้ตัดไม้ออกไปพอสมควรแล้ว ก็จะไม่อนุญาตให้ตัดแต่จะทำการฟื้นฟูปลูกเพิ่ม และให้ใช้ไม้ในแปลงอื่นแทน
แปลงที่ 4
แปลงป่าสมุนไพร ใช้เป็นพื้นที่เพื่อการศึกษา เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน และเพื่อการใช้ประโยชน์ของคนในชุมชน |
นอกจากนั้นชุมชนยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์ ได้แก่ ห้ามใช้ประโยชน์ใดๆ จากป่าในแปลงอนุรักษ์, หากชาวบ้านคนใดต้องการใช้ไม้ ต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบ และต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ่างชุมชน ถึงความสมเหตุสมผลในการใช้ไม้ และมีการตรวจสอบจำนวนไม้ที่ขอตัด, ไม่อนุญาตให้ตัดไม้ในป่าชุมชนเพื่อนำไปค้าขาย, ชาวบ้านคนใดตัดไม้ไปใช้ประโยชน์ 1 ต้น ต้องมีการปลูกทดแทน 5 ต้น, ชาวบ้านคนใดไม่ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับป่าชุมชน จะไม่อนญาตให้ชาวบ้านคนนั้นได้ใช้ไม้, ถ้าบุคคลใดเข้าตัดไม้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการป่าจะมีบทลงโทษปรับเป็นเงิน 5,000 – 10,000 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนไม้ที่ลักลอบตัด หรือส่งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินงานตามกฎหมาย, ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาเก็บหาสมุนไพรในเขตป่าชายเลนชุมชน
บทเรียนการสร้างป่าชายเลนชุมชนของชาวบ้านทุ่งตะเซะ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายและใช้เวลาอันยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ป่าชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากชุมชนได้รับรู้ปัญหา ตระหนักถึงผลของปัญหา ต้องการแก้ปัญหา เรียนรู้และทดลองโดยเริ่มจากการสร้างป่า เมื่อได้ผลเป็นที่น่าพอใจจึงเกิดความเชื่อมั่นที่จะดำเนินต่อและขยายผลต่อไป
กิจกรรมป่าชายเลนชุมชนมิได้เป็นเป้าหมายสุดท้ายอย่างเดียว หากเป็นเพียงกิจกรรมนำทางสู่เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งการพัฒนาคน ชุมชน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ
ชื่อชุมชน : บ้านทุ่งตะเซะ
ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง
พื้นที่ป่า : 2,000 ไร่ เป็นป่าชุมชน ส่วนที่เหลือ 3,000 ไร่เคยผ่านการสัมปทานป่าไม้มาก่อน
ประชากร : 345 คน 65 หลังคาเรือน
ความสำเร็จและความยั่งยืนของโครงการ
- ชุมชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของป่า หน้าที่คอยดูแลรักษาป่า
- ชุมชนเรียนรู้วิธีการทำงานโดยกระบวนการกลุ่ม
- ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในชุมชน ก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ มากมาย
- เกิดการสร้าง “ศุนย์ศึกษาป่าชายเลน” แห่งแรก ที่ดำเนินการโดยชาวบ้าน
ผลต่อความเปลี่ยนแปลง
- ชาวบ้านมีความเข้าใจเรื่องประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากพื้นที่ป่าชุมชน ระบบนิเวศ การพึ่งพารหว่างมนุษย์ ป่า สัตว์น้ำและสัตว์บก
- ปริมาณสัตว์น้ำและสัตว์ที่อาศัยในป่าชายเลนเพิ่มมากขึ้น การฟื้นตัวของป่าชายเลนส่งผลต่อปริมาณของหอยปะ (ซึ่งมีมากที่สุดในจังหวัดตรัง) นอกจากนั้นยังมีหอยนางรม หอยหวาน ปลากะพง ปูทะเล ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านอาชีพ และรายได้แก่คนยากจนนับหมื่นคน
การเกิดประชาสังคม
- พ.ศ. 2534 เกิดการรวมกลุ่มแกนนำและชาวบ้าน เพื่อหารือและเห็นความจำเป็นร่วมกันในการกำหนดแนวเขตป่าสัมปทานกับป่าใช้สอยของหมู่บ้าน
- พ.ศ. 2536 – 2538 คณะกรรมการป่าร่วมชุมชนปลูกป่าชายเลนชุมชนรอบหมู่บ้าน
- พ.ศ. 2538 – 2542 ชุมชนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาเรืออวนรุนด้วยสันติวิธี
- คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านทุ่งตะเซะแบ่งพื้นที่การจัดการป่าออกเป็น 4 โซน โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแล
|
เข้าชม : 32
|