ไฟ ป่า และอนาคต.. วิกฤตที่เกินควบคุม?
บทความโดย พลาย ภิรมย์ WWW - Thailand
ถอดข้อมูลบางส่วนจากรายงาน WWF & Boston Consulting Group: Fires, Forests, and the Future (2020)
ปีนี้เป็นปีที่มีความท้าทายในรูปแบบที่คนรุ่นเราและทั่วโลกไม่เคยประสบเผชิญมาก่อน เราต้องเจอกับ COVID-19
ที่ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมต้องเปลี่ยนไปเป็นแบบที่ตอนนี้เราเรียกกันอย่างคุ้นชินว่า “new normal”
แต่ new normal ที่เป็นรูปแบบการปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตแบบใหม่นี้ ก็ยังไม่ตอบโจทย์ “วิกฤติ” อีกอย่างหนึ่ง ที่อาจถูก COVID-19
ดึงความสนใจไป ก็คือ วิกฤติสิ่งแวดล้อม ที่สามารถทำให้เกิดความชะงักงันของมวลมนุษย์ชาติได้ไม่แพ้กัน และอาจจะมีความรุนแรง
สร้างผลกระทบได้มากกว่าในระยะยาว
วิกฤตสิ่งแวดล้อมนี้ ประกอบด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง แต่ซึ่งทุกปัญหามีส่วนเหมือนกันคือ ล้วนแต่มีสาเหตุมาจาก
กิจกรรมมนุษย์ทั้งสิ้น ซึ่งมีรูปแบบไม่ยั่งยืน สร้างความเสียหายต่อธรรมชาติ และปัญหาวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “โลกร้อน” หรือ “Climate Change หรือ Global Warming”— ซึ่งทั่วโลกได้เรียก
ร้องให้เปลี่ยนมาเรียกว่า “Climate Crisis” หรือวิกฤตโลกร้อน เพื่อต้องการสื่อให้คนทั่วโลกตระหนัก และลงมือแก้ไขอย่าง
จริงจังทันทีนั้นเอง ซึ่งหนทางแก้ปัญหานี้ ก็คล้าย ๆ กับ COVID-19 คือ เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม เคารพต่อ
ธรรมชาติ แต่มันไม่ใช่ New normal— ต้องเป็น “Better normal” คือเปลี่ยนให้มันดีกว่าเดิม
พอว่ามาถึงเรื่องวิกฤตโลกร้อนนี้ ก็มาเกี่ยวโดยตรงกับสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ปรากฏว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปีนี้
ได้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก รุนแรงมากขึ้น บ่อยครั้งมากขึ้น และหนึ่งในนั้นก็คือเหตุการณ์ไฟป่า
นั้นเอง การที่ไฟป่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิกฤตโลกร้อน ก็เพราะไฟป่าก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย
เฉพาะคาร์บอน ในปริมาณมากขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และซึ่งก็เป็นสาเหตุของ วิกฤตโลกร้อน และขณะเดียวกันวิกฤตโลกร้อนก็
เป็นปัจจัยเร่งเสริมให้เกิดไฟป่าอย่างมีนัยสำคัญมาก จากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและความแห้งแล้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แนวโน้มการเพิ่มพื้นที่ป่าไม่ทันกับอัตราการสูญเสีย
ไฟป่า หมอกควัน และภัยแล้ง ล้วนเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงหน้าแล้งของทุกปีและทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลาย
พื้นที่ทั่วโลก ซึ่งล้วนมีสาเหตุจากกิจกรรมมนุษย์ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติของโลกเกินพอดี ในตลอดช่วงเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุก ๆนาที
โดยเฉลี่ย มีพื้นที่ป่าไม้ขนาดสี่สิบสนามฟุตบอลได้ถูกโค่นทำลายไป ต้นไม้มีความสำคัญมากที่สุดในการรักษาระบบนิเวศรักษาสภาพภูมิ
อากาศ ความมั่นคงทางอาหาร และซึ่งคือความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ หากเราสามารถหยุดการทำลายป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้
หนึ่งในสามจากเดิม หรือปลูกต้นไม้เพิ่มประมาณ 1.2 พันล้านล้านต้นทั่วโลกก็จะสามารถบรรเทาวิกฤตโลกร้อนได้ เพราะต้นไม้จะดูดซับ
คาร์บอนจากอากาศตลอดการเจริญเติบโต มวลน้ำหนักครึ่งหนึ่งของต้นไม้หนึ่งต้นคือปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้ดูดออกจากอากาศ และส่ง
ต่อลงสู่ดินผ่านรากและจุลินทรีย์ในดิน สร้างความสมบูรณ์ชุ่มชื้นให้ดิน
แม้ว่าจะมีการพยายามของหลายประเทศในการเร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังเช่นกลุ่มประเทศยุโรป ที่มีพื้นที่สีเขียว
เพิ่มขึ้น 1% ทั้งทวีป หรือเพิ่มขึ้น 15 ล้านเฮกตาร์ และจีน ที่มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นถึง 5% หรือ 35 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งมากที่สุดในโลกแต่ขณะเดียว
กันการสูญเสียป่าในทวีปอเมริกาใต้และทวีปแอฟริกา ก็มีตัวเลขสูงถึง 5% และ 7% หรือสูญเสียถึง 75 ล้านเฮกตาร์ และ 65 ล้านเฮกตาร์
ตามลำดับ ซึ่งก็ทำให้พื้นที่สีเขียวหรือป่าทั่วโลกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2020 นี้ เหตุการณ์ไฟป่าได้เกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ป่าอเมซอน (Amazon) จนถึงขั่วโลกเหนือ หรืออาร์กติก (Arctic) ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน และในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้เกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นถึง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ซึ่งถือว่าปีนี้ได้รับการบันทึกว่าเป็นปีที่เกิดไฟป่าสูงสุด สาเหตุอาจมาจากวิกฤตโลกร้อน
เกษตรอุตสาหกรรมแบบเชิงเดี่ยว สาเหตุไฟป่า
แต่ขณะเดียวกันก็มีการเก็บข้อมูลและพบว่า กว่า 75% ของเหตุการณ์ไฟป่านั้น มีสาเหตุจากมนุษย์ เช่น การเผาป่า การรุกป่าทำแปลงเกษตรและปศุสัตว์ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหลักของการเกิดไฟป่า โดยมีการเผาตอซัง เผาเตรียมพื้นที่เกษตร การตัดและเผาทำลายป่าทำเกษตรเชิงเดี่ยว และการบริหารป้องกันไฟป่าที่ผิดพลาด แต่การที่เหตุการณ์ไฟป่าส่วนใหญ่มีสาเหตุจากมนุษย์นั้น ก็มีข้อดีคือ เราสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากปัจจุบันให้ดีขึ้น และการเน้นการแก้ปัญหาเชิงป้องกัน
จากเหตุการณ์ไฟป่าที่ได้อุบัติขึ้นทั่วทุกภูมิภาคในโลก เราสามารถสรุปได้ว่า ไฟป่า นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในป่าเกือบทุกประเภท ทุกสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีตั้งแต่ ป่าเขตร้อน (tropical forest) ป่าทุ่งหญ้า (Savannah) จนถึงป่าทุนดรา (tundra) ซึ่งเป็นป่าในเขตหนาวมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำ โดยธรรมชาตินั้น พื้นที่ที่เกิดไฟป่าส่วนใหญ่จะเกิดในป่าทุ่งหญ้า
ซึ่งในระหว่างปี 2019-2020 คิดเป็น 85% ของพื้นที่เกิดไฟป่าทั้งหมด ในขณะที่ ป่าเขตร้อน ซึ่งรวมถึงป่าที่เกิดไฟป่าในประเทศไทยนั้น คิดเป็นเพียง 7% ของพื้นที่ไฟป่าทั้งหมด แต่น่าสนใจว่า หากดูอัตราการปลดปล่อยคาร์บอนแล้ว ไฟไหม้ในป่าเขตร้อนกลับปล่อยคาร์บอนถึงร้อยละ 38% และคล้าย ๆ กับป่าสน (Boreal forest) ที่อยู่ในเขตหนาว เช่น แคนนาดานั้น พื้นที่ที่เกิดไฟป่าคิดเป็นเพียง 1% ของไฟป่าทั่วโลก แต่ได้ปล่อยคาร์บอนถึง 6% ของการปลดปล่อยคาร์บอนทั้งหมดจากไฟป่าเลยทีเดียว ซึ่งสาเหตุก็คือการเผาไหม้ของเนื้อไม้ที่เก็บคาร์บอนและคาร์บอนที่ถูกเก็บไว้ในดินไว้ปริมาณมากและยาวนาน ถ้าเป็นป่าเขตร้อน ก็จะมีคาร์บอนที่ถูกเก็บในเนื้อไม้ครึ่งหนึ่งและดินครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ป่าสน (Boreal Forest) ป่าผลัดใบ (Temporate Forest) และโดยเฉพาะป่าทุ่งหญ้า (Temporate Grassland) ที่คาร์บอนส่วนใหญ่จะเก็บอยู่ใต้พิภพดิน เมื่อด้านบนถูกเผาไหม้ คาร์บอนที่ถูกเก็บสะสมใต้ดินก็จะถูกปลดปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ หากคิดเป็นค่าเฉลี่ยแล้วของป่าทั้งหมด
ปริมาณคาร์บอนที่ถูกเก็บในเนื้อไม้คือ 24% และในดินคือ 76% ซึ่งนั้นหมายถึงการเกิดไฟไหม้ในพื้นที่ป่าทุกประเภทเหล่านี้ ย่อมทำให้แหล่งกักเก็บคาร์บอนสำคัญ ที่ได้กักเก็บคาร์บอนมาตลอดนับร้อย ๆ ปี ต้องเสียหายไป และต้องใช้เวลานับร้อยปีเท่าเดิมในการกลับมาอยู่ในสภาพเดิม และยังรวมถึงปัญหาเสียสมดุลของระบบห่วงโซ่อาหาร หน้าที่ของระบบนิเวศต่าง ๆ ถูกทำลาย ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาวิกฤติยิ่งใหญ่ของโลกเลยทีเดียว
ภาพรวมเหตุการณ์ไฟป่าในปี 2020...วิกฤตรุนแรง
สำหรับภาพรวมเหตุการณ์ไฟป่าในปี 2020 นั้น พบว่าเหตุการณ์ไฟป่าในประเทศไทยเป็นหนึ่งในเหตุการณ์รุนแรงที่ทั่วโลกให้ความสำคัญติดตาม เนื่องด้วยมีความรุนแรงในเชิง ขนาดพื้นที่ และเป็นพื้นที่ป่าที่มีความสำคัญอุดมสมบูรณ์มาก และสำหรับประเทศอื่น ๆ ก็มีไฟป่าในประเทศบราซิล หรือป่าอเมซอน เป็นป่าเขตร้อน หรือป่าดิบชื้น ซึ่งภายใน 6 เดือน ได้ไหม้ไปถึง 307,000 เฮกตาร์ (1.9 ล้านไร่) และก็มีความคล้ายกับประเทศไทยคือ การไหม้ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเกิดไฟไหม้ในหลายจุดและมากบ่อยครั้งกว่าที่ผ่านมามาก ไฟป่าในประเทศโบลีเวีย ก็เพิ่มมากขึ้นกว่า 35% จากปีก่อน มีสาเหตุจากการรุกป่าทำพื้นที่เกษตรและปศุสัตว์ และที่เป็นเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศหรือโลกก็ว่าได้ คือเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าประเทศออสเตรเลีย ที่มีความรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน คือเป็นพื้นที่มากถึง 1/5 ของป่าผลัดใบ (temperate forest) ทั้งหมดของประเทศ คิดเป็นขนาดเท่าประเทศอังกฤษ ในขณะที่ป่าเขตหนาวในประเทศรัสเซีย ซึ่งในปีนี้ มีความรุนแรงเป็นอันดับสองของประวัติศาสตร์ไฟป่าของประเทศ ขนาดของไฟป่ามีความกว้างมากกว่าการสูญเสียป่าจากการทำสัมปทานไม้ในอดีตถึง 3 เท่า และยังพบว่าในเดือนเมษายน ในไซบีเรียมีอุณหภูมิเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และในยูเครน เชอนาบิล ก็เกิดไฟป่ามาขึ้นถึง 30% และเหตุการณ์ไฟป่าทั่วโลกเหล่านี้ที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น ปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่อัตราเกิดไฟป่าได้สูงกว่าอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าอีกครั้ง ซึ่งในช่วงทศวรรษก่อนหน้านี้นั้น อัตราการเกิดไฟป่าลดลงต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าหากวิกฤตโลกร้อนยังคงไปในทิศทางปัจจุบัน ในอีกตลอดห้าสิบปีข้างหน้า พื้นที่และอัตราการเกิดไฟป่าจะกลับมาสูงขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง จนเท่ากับจุดสูงสุดในปี 1900
ดังนั้นประเด็นสรุปสำคัญที่เราได้เรียนรู้จากไฟป่าที่ผ่านมา คือ ไม่ว่าไฟป่าจะเกิดโดยธรรมชาติหรือเกิดจากมนุษย์นั้น ได้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศมากขึ้น และมีการเกิดไฟป่าได้เพิ่มสูงขึ้น และยังจะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งสามารถเห็นแนวโน้มได้จาก 3 ตัวชี้วัด คือ พื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ (surface burned) ความบ่อยครั้ง (frequency) และความรุนแรง (severity) ที่ล้วนแต่กลับเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง
ดังที่ได้เกริ่นมาข้างต้น สถานการณ์พื้นที่เกิดไฟป่าของโลกได้ลดลงตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 และอยู่ในอัตราประมาณ 4 ล้าน ตร.กม. ต่อปี ตั้งแต่ปี 2010 หรือคิดเป็น 3% ของพื้นที่บนดินของโลก ซึ่งหากเราไม่มีการป้องกันที่ดีพอ ทั้งในส่วนของการป้องกันไฟป่าโดยตรงและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น แนวโน้มตัวเลขพื้นที่เกิดไฟป่าก็จะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 1900 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขพื้นที่เกิดไฟป่าในแต่ละประเทศ ในแต่ละปีนั้น มีขึ้นลงแตกต่างกัน ซึ่งในปี 2020 นี้ ก็มีหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ที่มีตัวเลขพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ มากที่สุดของประวัติศาสตร์ประเทศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินว่า รวมทั่วโลก อาจมีการเกิดไฟป่าในพื้นที่มากขึ้นถึง 1 ล้าน ตร. กม. ภายในปี 2100 เมื่อเทียบกับปีปัจจุบัน
วิกฤติโลกร้อน ปัจจัยเร่งไฟป่า
สถานการณ์ที่สร้างปัญหาอีกประเด็นหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ทำให้ฤดูร้อนหรือฤดูแล้งมีความยาวนานมากขึ้นถึง 30-50% หรือยาวเพิ่มขึ้นประมาณ 6 สัปดาห์ ซึ่งหมายถึงโอกาสและความถี่ที่จะเกิดไฟป่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาก เช่น ที่ป่าอเมซอน จะมีฤดูไฟป่ายาวถึง 5 เดือน และป่าในทวีปแอฟริกาจะยาวถึง 3 เดือน และการที่ฤดูไฟป่ายาวนานขึ้นนั้น จะเกิดความยากในการคาดเดา ยากในการจัดการ เนื่องด้วยความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการที่ไฟป่าเกิดขึ้นบ่อยในแต่ละพื้นที่นั้น ย่อมส่งผลกระกบต่อการฟื้นตัว และแน่นอนว่าระบบนิเวศจะเกิดการเปลี่ยนแปลงและอาจล่มสลายได้ เช่น ชนิดของพันธุ์ไม้จะเปลี่ยนแปลง ความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลง และเกิดการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์บางชนิดอย่างถาวร ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นวงจรกระทบถึงอุณหภูมิและฤดูกาลที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดไฟป่าที่รุนแรง บ่อยครั้ง และขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนนั้น ไม่ใช่เฉพาะอากาศร้อนและแล้งที่ทำให้เกิดไฟป่าเท่านั้น แต่ยังพบว่าแม้แต่ในช่วงการเกิดฝนฤดูร้อนนั้น ฟ้าผ่า ได้ทำให้เกิดไฟป่าในป่าเขตหนาว และแรงลมรุนแรงก็มักเป็นตัวเร่งให้ไฟป่ากระจายตัว และควบคุมได้ยากในหลายพื้นที่ทั่วโลก
ความเสียหายและผลกระทบที่ยากต่อการฟื้นฟู
ผลกระทบจากสถานการณ์ไฟป่านั้น จะเป็นแบบความเสียหายแบบฉับพลันที่เกิดขึ้นระหว่างเกิดไฟป่า เช่น พื้นที่ป่าถูกทำลาย ถิ่นที่อาศัยของสัตว์และชุมชน และปัญหาฝุ่นหมอกควันพิษ และในความเสียหายแบบต่อเนื่องระยะยาวก็เป็นเรื่องรุนแรงมาก ซึ่งอาจมีความยาวนานนับสิบปี เช่น ระบบนิเวศที่สูญเสียสมดุลและสร้างผลต่อเนื่อง การเสี่ยงสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์พื้นถิ่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติดินถล่มในช่วงฤดูฝน เป็นต้น ในหนึ่งปี อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากไฟป่าสูงมากถึงประมาณ 10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก
ทั้งนี้ ผลกระทบในระยะสั้นจากไฟป่าในช่วงปีที่ผ่านมานั้น เราสามารถเห็นผลกระทบของไฟป่าได้ใน 3 ด้านหลัก ๆ คือ ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และด้านเศรษฐกิจ
ในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่นั้น แม้ว่าไฟป่าได้คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกเพียง 100-400 คนต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 0.2% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ เช่น ข้อมูลในปี 2017 พบว่ามีประชากรที่ต้องการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และอพยพหาถิ่นที่อยู่ใหม่ถึง 550,000 คนทั่วโลก และในปี 2019 ไฟป่าในอเมซอน ได้ส่งผลกระทบต่อถิ่นพื้นอาศัยของชนพื้นเมืองในป่าถึง 148 กลุ่ม และในอินโดนีเซีย พบว่าไฟป่าต้องทำให้โรงเรียนต้องปิดลง ส่งผลกระทบต่อนักเรียนถึง 5 ล้านคน ข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพพบว่า แต่ละปี มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการป่วยด้านระบบหายใจและไหลเวียนโลหิตถึง 340,000 คน ที่เกี่ยวเนื่องกับไฟป่า ในอินโดนีเซียยังมีผู้ป่วยเรื้อรังกว่า 1 ล้านคนที่เกี่ยวเนี่องกับมลพิษจากไฟป่าพรุ (peatleand fires) ซึ่งมาจากการเผาทำลายป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน และน่าสนใจว่ากว่าร้อยละ 80 ของผู้ได้รับผลกระทบด้านระบบหายใจอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาใต้สะฮารา การศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังพบว่า การได้รับฝุ่นควันในระยะเวลานานจะทำให้อัตราความเสี่ยงเสียชีวิตจาก COVID-19 เพิ่มขึ้นถึง 15% และยังพบปัญหาด้านความเครียด จากปัญหาไฟป่าและหมอกควัน
ความถี่และความรุนแรงของไฟป่าทั่วโลกนั้น ได้กลายเป็นภัยคุกคามหลักต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก เหตุการณ์ไฟป่าออสเตรเลียในช่วงปี 2019-2020 ที่ผ่านมา ได้คร่าชีวิตสัตว์ป่ามากถึง 3 พันล้านตัว ซึ่งรวมถึงสัตว์พื้นถิ่นใกล้สูญพันธุ์ เช่น โคอาล่า และพืชพันธุ์ไม้พื้นถิ่น กว่าร้อยละ 6 ซึ่งขึ้นอยู่ในพื้นที่กว่าร้อยละ 30 ที่ถูกไหม้ ต้องเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ในทั่วโลกนั้น ไฟป่าที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่รูปแบบตามธรรมชาตินั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของสัตว์ป่า ซึ่งอาจจะถูกฆ่า บาดเจ็บ หรือป่วยจากการสูดควันไฟ สูญเสียถิ่นอาศัย และกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์ป่าเอง และที่สำคัญรวมถึงห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ซึ่งสัตว์ป่าพื้นถิ่นเกือบทุกชนิดอาจไม่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ในพื้นที่เกิดไฟป่า เนื่องจากมีระบบห่วงโซ่อาหารที่เปลี่ยนแปลงไป
ผลกระทบของไฟป่าที่สร้างผลกระทบต่อคนในวงกว้าง ก็หนีไม่พ้นความเสียหายทางเศรษฐกิจ เช่น ในสหรัฐอเมริกา มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่ใกล้บริเวณเสี่ยงไฟป่ามีมูลค่าลดลงประมาณ 20% ไฟป่าออสเตรเลียในปี 2019 ได้สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 2.9 พันล้านดอลลาร์ และทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงจาก 2.75%- เป็น 1.9% จากที่ตั้งไว้ เช่นเดียวกันกับหลาย ๆ ประเทศ ที่ไฟป่าส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงภาระเงินภาษีที่ประชาชนต้องแบกรับสำหรับการฟื้นฟูและการดับไฟป่า เช่น ในปี 2018 มีการเก็บข้อมูลในสหรัฐอเมริกา พบว่า ค่าใช้จ่ายในการรับมือไฟป่าในฤดูไฟป่าสูงถึง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเท่ากับรายได้ของ Facebook ในปีเดียวกัน
ร่วมกันแก้ปัญหาแบบเชิงรุก ด้วยการป้องกันที่ต้นเหตุ
เมื่อวิกฤตปัญหาไฟป่าได้เกิดขึ้นเป็นเชิงประจักษ์แล้ว ซึ่งมีความรุนแรงและผลกระทบเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคน ทุกประเทศทั่วโลกต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา หรือที่เราเรียกว่า the need for global solutions and collective actions และซึ่งไฟป่าเองนั้นมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือวิกฤตโลกร้อน ดังนั้นทั่วโลกจึงควรใช้ผลกระทบไฟป่าเป็นบทเรียนเพื่อเร่งการแก้วิกฤตโลกร้อนร่วมกัน ซึ่งคือการบรรลุข้อตกลงปารีส โดยทุกประเทศ ทุกภาคส่วน ร่วมกันแสดงเจตจำนงค์และดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
ซึ่งการที่จะนำมาสู่การแก้ปัญหาได้จริงนั้น เราจะต้องมีความทะเยอทะยานที่จะตั้งเป้าให้สูงที่สุดในการลดก๊าซเรือนกระจกและลงมือทำทันที ในส่วนของภาครัฐ หรือรัฐบาลของแต่ละประเทศก็มีการแสดงเจตจำนงการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ NDC ซึ่งไทยเองก็ตั้งเป้าหมายขั้นต่ำไว้ร้อยละ 20 ให้ได้ภายในปี 2030 แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้รวมภาคส่วนป่าไม้และเกษตรเข้าไปในเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation target) ซึ่งเป็นภาคส่วนที่เกี่ยวกับไฟป่า แต่ก็มีอยู่ในแผนด้านการปรับตัว (Adaptation plan)
อย่างไรก็ตาม มีการเสนอและเรียกร้องจากนักวิชาการและนักอนุรักษ์ทั่วโลกว่า ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะรวมไปในเป้าหมายของ NDC ของทุกประเทศ ควรรวมเอาตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากไฟป่าด้วย ทั้งมาจากการไหม้ตามธรรมชาติและการไหม้จากมือมนุษย์ หากรวมไปกับตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศแล้ว ก็จะเป็นแรงผลักดันที่มีประสิทธิภาพต่อรัฐบาลในการที่จะให้ความสำคัญกับปัญหาไฟป่า โดยที่สำคัญ คือการลงทุนหรือใช้งบประมาณไปกับการป้องกัน มากกว่าการดับไฟ ซึ่งปริมาณเงินภาษีหรืองบประมาณที่สูญเสียไปกับการดับไฟในหลายประเทศนั้น มีตัวเลขที่สูงขึ้น ในขณะที่งบประมาณเชิงการป้องกันนั้น ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าและยั่งยืนมากกว่า กลับถูกลดลง เช่นเดียวกับงบประมาณฟื้นฟูก็ทำให้งบประมาณเชิงป้องกันนั้นถูกลดลง
ทั้งนี้ การดำเนินงานเชิงป้องกันไฟป่านั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากระดับท้องถิ่น และต้องอาศัยการกระจายอำนาจ ซึ่งในประเทศไทยนั้น อาจเป็นทางตรงข้าม ซึ่งมีการรวมศูนย์อำนาจที่รัฐบาลกลาง ที่รวมศูนย์ทั้งงบประมาณ การกำหนดและดำเนินนโยบาย รวมถึงการตัดสินใจ ดังนั้นเราจะเห็นว่าการแก้ปัญหาไฟป่าในไทยเองขาดประสิทธิภาพ ทั้งไม่ทันต่อปัญหา สิ้นเปลืองงบประมาณ และไม่เน้นงานเชิงป้องกัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุด การป้องกันไฟป่านั้น สิ่งแรกคือการวิเคราะห์ถึงต้นเหตุของไฟป่า เช่น การจุดไฟเผาป่า และวิถีการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งอาจเป็นการรุกเผาป่าเปลี่ยนพื้นที่ทำเกษตร และการเผาตอซังเพื่อทำเกษตร สำหรับในประเทศไทย เราจะเห็นได้ชัดว่า อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หรือการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าและไฟป่านั้นเอง การป้องกันไฟป่ายังต้องอาศัยความร่วมมือกับชุมชนเป็นหลัก ในการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรป่า การเฝ้าระวัง เช่น โครงการชุมชนเฝ้าระวังไฟป่าและการทำลายป่า การทำแนวกันไฟแบบธรรมชาติ และการฟื้นฟูป่า เพิ่มพื้นที่ป่า และสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่กันชน
สิ่งที่สำคัญในการดำเนินนโยบายหรือแผนงานต่าง ๆ นั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและหลักวิทยาศาสตร์ การใช้นำภูมิปัญญาดั้งเดิม ผนวกกับการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เมื่อเกิดไฟป่าและความเสียหาย ก็ต้องมีการประเมินผลกระทบ เพื่อที่จะจัดลำดับความสำคัญของการฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทั้งนี้ ภาระความรับผิดชอบต้องไม่จำกัดเฉพาะภาครัฐ แต่ควรเป็นความรับผิดชอบของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกษตร ท่องเที่ยว พลังงาน และอื่น ๆ และภาคธุรกิจเหล่านี้ก็ต้องยุติการเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า เช่นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และปศุสัตว์ ต้องยุติการทำลายป่าในห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น
ท้ายที่สุดนี้ เป็นความรับผิดชอบของทุกคน ซึ่งสามารถมีส่วนช่วยในการป้องกันไฟป่าได้ เช่น การเป็นหูเป็นตาดูแลทรัพยากรป่า ไม่ให้มีใครมาเผาป่าหรือสร้างความเสี่ยงต่อไฟไหม้ป่า สนับสนุนภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น อาสาสมัคร องค์กรอนุรักษ์ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการดูแลป่า และช่วยกันบอกเล่าถึงปัญหาและการแก้ปัญหาไฟป่าให้กับคนรอบข้าง และร่วมกันบริโภคและใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบ ไม่สนับสนุนอาหาร บริษัท และกิจกรรมที่ส่งผลต่อทรัพยากรป่า ดำเนินชีวิตที่อ่อนน้อม เคารพต่อธรรมชาติ เราทุกคนก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.wwf.or.th/en/scp/?uNewsID=364616
เข้าชม : 749
|